ประสบการณ์ของประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัวชี้ว่า ศักยภาพและคุณภาพของคนอันเป็นผลมาจากระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้ประเทศเหล่านั้นประสบความสำเร็จมากกว่าประเทศอื่นๆ
ที่ผ่านมาประเทศไทยก็ลงทุนในเรื่องการศึกษาไปไม่น้อย แต่เป็นการลงทุนเชิงปริมาณ สั่งการ และเหมาโหล มากกว่าคำนึงถึงรายละเอียด การมีส่วนร่วม ตลอดจนบริบทและคุณภาพที่เป็นเป้าหมายสำคัญ ถือเป็นการจัดการศึกษาอย่างคับแคบ คือ สร้างระบบการศึกษาแบบบันไดดารา แบบแพ้คัดออก
ที่น่าหนักใจกว่านั้นคือ เด็กที่ไม่เก่ง ไม่รู้จะเรียนอะไร ส่วนใหญ่มักจะมาเลือกเรียนครู ทำให้เส้นทางของคนเรียนครูในปัจจุบันนี้ คือเส้นทางของคนที่ไม่มีทางไปในเรื่องการศึกษา ส่งผลไปยังอนาคตว่าเราให้คนแบบนี้ ซึ่งนอกจากไม่เก่งแล้ว ยังสิ้นหวังและขาดจินตนาการมาสอนเด็กนักเรียน เด็กรุ่นต่อไปจะมีคุณภาพได้อย่างไร เพราะคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กจะไม่มีวันสูงเกินกว่าคุณภาพของครู
การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมา จึงเป็นเพียงการเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงาน แต่ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนให้ดีขึ้นและแตกต่างจากเดิม ปัญหาของการปฏิรูปการศึกษารอบแรกคือ เน้นที่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และทบวงมหาวิทยาลัย และหากจะมีการปฏิรูปรอบสองที่เน้นการปฏิรูปโอกาสและคุณภาพการศึกษา คุณธรรม จริยธรรมของนักเรียนแล้ว แต่การปฏิรูปที่ขาดการปรับกระบวนทัศน์ใหม่ อาจไม่สัมฤทธิผลเหมือนที่วางเป้าหมายเอาไว้ โดยเฉพาะเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะเราไม่สามารถสร้างคุณธรรม จริยธรรมจากการท่องจำวิชาศีลธรรมได้
นอกจากนี้ สังคมไทยยังเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมอำนาจ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปการศึกษาอย่างยิ่ง เพราะแต่ละฝ่ายมุ่งสนใจว่าปฏิรูปการศึกษาแล้วจะทำให้ใครมีอำนาจ ใครเสียอำนาจ แทนที่จะคำนึงถึงเป้าหมายที่แท้จริง ซึ่งก็คือคุณภาพของการศึกษาไทย
ข้อมูลการศึกษาของ PISA (Programme for International Students Assessment) พบว่าเด็กไทย 74 เปอร์เซ็นต์อ่านภาษาไทยไม่รู้เรื่อง วิเคราะห์ความหมายไม่ถูก และใช้ภาษาให้เป็นประโยชน์ในการเรียนวิชาอื่นๆ ไม่ได้ ในขณะที่ข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปการศึกษาแบบสั่งการเชิงนโยบายให้ครูพยายามสอนให้นักเรียนใฝ่รู้ใฝ่เรียน รักการอ่าน คิดวิเคราะห์ได้ จึงเป็นเพียงภาพในอุดมคติเท่านั้น เพราะไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าในสภาพที่ครูอาจารย์จำนวนมากไม่ได้ใฝ่รู้ ไม่รักการอ่าน คิดวิเคราะห์สังเคราะห์ไม่เป็นแล้ว ครูอาจารย์เหล่านั้นจะสอนให้เด็กใฝ่รู้ มีนิสัยรักการอ่านได้อย่างไร เพราะความจริงแล้วเด็กมักจะเป็นอย่างที่ครูเป็น มากกว่าจะเป็นอย่างที่ครูสอน
ครูอาจารย์จึงถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ โดยเฉพาะสำหรับประเทศไทย ซึ่งวัฒนธรรมการเรียนรู้เน้นการฟังบรรยายจากอาจารย์เป็นหลัก มากกว่าจะอ่านศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง หรือเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ใกล้ตัวเพื่อการเรียนรู้ที่มีความหมายและสร้างแรงบันดาลใจ ทำให้คุณภาพการสอนของครูอาจารย์ส่งผลต่อคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษาเป็นอย่างมาก
การขยายตัวเชิงปริมาณของการศึกษาไทยในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการจ้างครูอาจารย์เป็นจำนวนมากโดยละเลยและขาดการเอาจริงเอาจังในกระบวนการคัดเลือกอย่างเป็นระบบและรอบคอบ ที่แย่กว่านั้นคือ ในบางครั้งแม้แต่การรับครูอาจารย์ก็ยังมีการวิ่งเต้นเล่นพรรคเล่นพวก ปัญหานี้ไม่เพียงสะท้อนว่า ผู้ที่เข้ามาเป็นครูอาจารย์จำนวนไม่น้อยที่ยังไม่มีคุณภาพและจริยธรรมเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นว่า การคัดเลือกคนเข้าสู่ระบบการศึกษาเพื่อทำหน้าที่สำคัญที่สุดคือเป็นครูอาจารย์ของประเทศเรานั้นล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
นอกจากนี้ เราอาจต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลน "ครูของครู" ซึ่งทางคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ระบุว่าในปี 2554 คณาจารย์ในคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์จะเกษียณอายุราชการ 2,263 คน ในจำนวนผู้เกษียณอายุพบว่าอาจารย์ที่มีผลงานวิชาการระดับศาสตราจารย์ ซึ่งทั้งประเทศมีจำนวน 15 คน จะเกษียณอายุทั้งหมด ส่วนระดับรองศาสตราจารย์จะเกษียณประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้น รัฐบาลน่าจะมุ่งเน้นพัฒนาและยกระดับสถาบันผลิตครูให้เข้มข้นกว่านี้ เหมือนกับที่ทุ่มงบประมาณให้มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ เพราะเรื่องดังกล่าวนี้ก็สำคัญไม่แพ้กัน
ผู้เขียนเชื่อว่า ปัญหาครูไม่มีคุณภาพ ไม่ได้เกิดจากระบบไม่ดีเพียงส่วนเดียว หากส่วนใหญ่เกิดจากระบบการพัฒนาครูที่ทำให้ครูขาดแรงจูงใจในการสอน ขาดแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเอง รวมถึงขาดการจัดการความรู้ที่ดี เพราะไม่มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแบ่งปันความรู้ระหว่างกัน
ความเป็นจริงอย่างหนึ่ง ซึ่งสะท้อนจากครูในโรงเรียนคือ ทุกเรื่องในโรงเรียนสำคัญหมดไม่น้อยไปกว่าเรื่องการเรียนการสอน แปลว่าทุกกิจกรรมเร่งด่วนและสามารถสอดแทรกแทนการสอนหนังสือได้เสมอ โดยเฉพาะงานธุรการต่างๆ ที่ครูมักจะถูกเรียกไปทำ หรือกระทั่งประชุมต่างๆ ที่ทำให้การสอนต้องงดไว้ก่อน การพิจารณาความดีความชอบก็มักจะพิจารณาจากงานสอนเป็นลำดับท้ายๆ ครูที่สอนเก่ง ตั้งใจสอน มักจะไม่ได้รับการส่งเสริมเท่าที่ควร เพราะเมื่อครูเน้นเรื่องสอน งานอื่นๆ ก็จะด้อยลง เมื่อเป็นอย่างนี้บ่อยเข้าครูที่อยากก้าวหน้าจึงเน้นทำงานอย่างอื่นมากกว่างานสอน โดยเฉพาะการทำผลงานที่ทำให้ครูก้าวหน้า แต่คุณภาพของเด็กกลับถอยหลัง
แต่ที่วิกฤตที่สุดคือ สภาพเหล่านี้ได้กลายมาเป็นความเคยชินและชีวิตประจำวันของคนในระบบการศึกษาไทย ซึ่งหากไม่มีการปฏิรูปและแสวงหาแนวทางใหม่อย่างจริงจัง เราคงไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้
แนวทางแก้ไขที่ง่ายที่สุดคือ ต้องให้ครูสอนนักเรียนอย่างเต็มเวลาเต็มหลักสูตร เต็มความสามารถตามความถนัดและศักยภาพของผู้เรียน ต้องคืนครูให้นักเรียน ใครสอนดี ตั้งใจสอน สอนแล้วเด็กมีคุณภาพ ต้องพิจารณาความดีความชอบให้ก่อน หรือมีแนวทางหนุนเสริมและให้การยอมรับ ถ้ามีความสม่ำเสมอต่อเนื่องก็นำไปสู่การผูกโยงกับการเลื่อนวิทยฐานะ เพราะความก้าวหน้าของครูควรผูกอยู่กับการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน
การปฏิรูปครูอาจารย์ควรเพิ่มแรงจูงใจให้ครูดี ครูเก่ง อยู่ต่อและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภา