ประชากรที่อาศัยอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นกสกรรม เลี้ยงสัตว์ และการผลิตเครื่องใช้ประเภทต่างๆ นิยมปลูกพืช เช่นข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี หมาก อินทผลัม โดยชาวสินธุนิยมบริโภคข้าวสาลีเป็นอาหารหลัก นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงสัตว์ไว้บริโภค เช่น แกะ หมู ปลา ไก่ ส่วนสัตว์เลี้ยงที่นิยมเลี้ยงไว้ใช้งาน เช่นวัว ควาย แกะ ช้าง และอูฐ นอกจากนี้ แล้วยังมีการประกอบอาชีพค้าขาย โดยพบหลักฐานจากซากเมืองโบราณถึงการมีร้านเล็กๆ ริมสองฟากถนน และยังพบบ้านที่พักอาศัยหลายหลังที่มีขนาดกว้างขวางใหญ่แตกต่างกว่าหลังอื่นๆ วึ่งสันนิษฐานว่าคงเป็นบ้านของบรรดาพ่อค้าที่มีความมั่งคั่ง
ด้านการผลิตเครื่องใช้ประเภทต่างๆ พบว่า อารยธรรมของชาวสินธุรู้จักการทำเครื่องปั้นดินเผาที่เขียนลวดลายสีดำบนพื้นสีแดง เครื่องปั้นดินเผาชนิดนี้พบมากในบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ ตลอดไปจนถึงลุ่มแม่น้ำคงคา ขณะเดียวกันยังพบร่องรอยความเจริญจากเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยหินและสำริด นอกจากนี้ยังพบเครื่องปั่นฝ้าย แสดงให้เห็นว่ายุคนี้ รู้จักการปั่นฝ้าย และรู้จักการทอผ้าขึ้นใช้เอง ซึ่งการแต่งกายของชาวสินธุเป็นแบบง่ายๆ ด้วยผ้าฝ้ายและหนังสัตว์นำมาห่อหุ้มร่างกาย โดยชายและหญิงแต่งกายด้วยผ้า 2 ชิ้น ท่อนล่างเป็นผ้านุ่งแบบโธติ มีเชือกคาดเอว ท่อนบนปิดไหล่ขวา มีการใช้เครื่องประดับ เช่น กำไล แหวน เครื่องประดับจมูก ต่างหูและสายสร้อยคอที่ทำจากกระดูกสัตว์และโลหะ เช่น เงินและทอง เป็นต้น