เมื่อ 13 พ.ย. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ของเมียนมาประกาศผลการเลือกตั้งที่ยังทยอยนับใกล้เสร็จสิ้นว่า พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางออง ซาน ซูจี ได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นอีก 15 ที่นั่ง ส่งผลให้ครองที่นั่งในสภา 348 ที่นั่งทั้งสภาสูงและสภาล่าง ซึ่งเกินสัดส่วน 2 ใน 3 ของคะแนนเสียงส่วนใหญ่ที่ต้องการ 329 ที่นั่งในจำนวน 664 ที่นั่งในสภา และยิ่งเสริมความแข็งแกร่งให้พรรคเอ็นแอลดีสามารถเลือกประธานาธิบดีได้เองรวมถึงจัดตั้งรัฐบาลขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาลผสม ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลชุดใหม่ของประวัติศาสตร์การเมืองในเมียนมานับแต่กองทัพทหารเมียนมาปกครองประเทศมายาวนาน 50 ปี และยังเป็นวันครบรอบปีที่ 5 ของนางซูจีที่พ้นอิสรภาพจากการกักบริเวณภายในบ้านพัก
ขณะเดียวกัน ทั้งประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ และนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่นอกจากออกมาแสดงความยินดีต่อชัยชนะอย่างถล่มทลายของนางซูจี ก็ยังกล่าวชื่นชมประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ของเมียนมา ที่สามารถจัดการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์นี้ได้อย่างประสบความสำเร็จ อีกทั้งนายบัน คี มูน ยังยอมรับในความกล้าหาญและวิสัยทัศน์ของผู้นำเต็ง เส่ง กับภาวะความเป็นผู้นำของกระบวนการปฏิรูปการเมืองในประเทศ
นอกจากนี้ ผู้นำเต็ง เส่ง กับพลเอกมิน อ่อง หลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา ซึ่งต่างยอมรับผลการเลือกตั้งและพร้อมเปิดการเจรจาปรองดองกับนางซูจี ซึ่งคาดว่าภายในสัปดาห์หน้า รวมไปถึงส่งเสริมสนับสนุนให้การเปลี่ยนถ่ายอำนาจเป็นไปอย่างสันติ
อย่างไรก็ตาม นายสเตฟาน ดูจาร์ริก โฆษกประจำนายบัน คี มูน แถลงว่า ยังมีคนอีกจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนประเมินว่า ราว 4 ล้านคนไม่สามารถไปใช้สิทธิ์กับการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะคนกลุ่มนี้ที่ส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮีนจาไม่ได้รับสิทธิ์เข้าคูหาและขาดคุณสมบัติการลงสมัครเลือกตั้ง จึงถือว่าเมียนมายังต้องทำงานหนักอีกมากที่จะให้ประเทศเดินไปสู่หนทางของ ประชาธิปไตย
สำหรับการลงมติเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ของเมียนมาจะเริ่มขึ้นทันทีที่สมาชิกสภาชุดใหม่ทั้งสภาสูงและสภาล่างเข้าไปนั่งในสภาในเดือน ก.พ.ปี 2559 จากนั้นเมื่อได้ประธานาธิบดีคนใหม่แล้ว ก็จะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ภายในสิ้นเดือน มี.ค.ในปีเดียวกัน ซึ่งนางซูจีให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ช่องนิวส์ เอเชียว่า ประธานาธิบดีจะไม่มีอำนาจหน้าที่ ทุกอย่างจะเป็นไปตามการตัดสินใจของพรรครัฐบาลซึ่งจะชี้แจงให้ประธานาธิบดีทราบถึงภารกิจหน้าที่โดยตรง.